1
“หนูไม่กล้าออกไปสัมผัสแสงแดดกลางแจ้ง เพราะชั้นโอโซนมีรูโหว่
หนูไม่กล้าหายใจ เพราะไม่รู้ว่าในอากาศมีสารเคมีอะไรปะปนอยู่บ้าง
ที่แวนคูเวอร์ หนูเคยตกปลากับพ่อ แต่เมื่อ 2-3 ปีมานี้เราพบว่าในตัวปลาเต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง
หนูรู้ว่า ทุกวันนี้พืชและสัตว์หลายชนิดกำลังสูญพันธุ์ มันหายไปจากโลกอย่างถาวร
หนูฝันที่จะได้เห็นฝูงสัตว์ป่า ผืนป่าฝนเขตร้อนที่เต็มไปด้วยนกและผีเสื้อนานาชนิด
แต่ตอนนี้หนูไม่แน่ใจว่า สิ่งเหล่านี้จะคงอยู่ให้เด็กๆ รุ่นต่อไปได้เห็น
…ตอนที่อายุเท่าหนู พวกคุณเคยกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างหรือไม่”
“หนูยังเป็นเด็กและไม่รู้หนทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่หนูอยากให้คุณตระหนัก
ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะปิดรูโหว่ของชั้นโอโซนได้อย่างไร
ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะนำแซลมอนกลับมาสู่สายน้ำที่เสื่อมโทรมได้อย่างไร
ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะฟื้นชีวิตสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่างไร
และคุณก็ไม่สามารถทำให้ผืนป่าคืนกลับมาในพื้นที่ที่ปัจจุบันกลายเป็นทะเลทราย
…ถ้าคุณไม่รู้วิธีเยียวยาปัญหาพวกนี้ โปรดหยุดทำลาย”
“หนูยังเป็นเด็ก แต่หนูก็รู้ว่าถ้านำเงินทั้งหมดที่ใช้เพื่อการสงคราม
มาใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนและหาทางออกให้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกใบนี้จะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก
ที่โรงเรียน คุณสอนให้หนูและเพื่อนๆ ทำตัวดีๆ
คุณสอนพวกเราว่า…อย่าทะเลาะกัน ควรวางแผนแก้ปัญหา ต้องเคารพผู้อื่น
เก็บกวาดสิ่งสกปรกรกรุงรัง ไม่ทำร้ายชีวิตอื่น ควรแบ่งปัน อย่าเห็นแก่ตัว
แต่ทำไมการกระทำของพวกคุณจึงตรงข้ามกับถ้อยคำที่สั่งสอนพวกหนู”
นี่เป็นข้อความบางส่วนที่เด็กหญิงวัย 12 ขวบกล่าวอย่างฉะฉาน
ต่อหน้าบรรดาผู้นำและตัวแทนจากหลายประเทศทั่วโลก
ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Earth Summit)
ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1992 ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล
สุนทรพจน์เรียกร้องให้ผู้ใหญ่ทั้งหลายลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตของลูกหลาน
ความยาว 6 นาทีเศษจบลงด้วยคำขอบคุณผู้ฟัง เสียงปรบมือกึกก้องก็ดังขึ้นยาวนาน
อัล กอร์ (ขณะนั้นยังไม่ได้เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ซึ่งนั่งฟังตั้งแต่ต้นจนจบ
เดินเข้ามาแสดงความยินดีกับเด็กหญิงและกล่าวชื่นชมว่า
เป็นสุนทรพจน์ที่ดีที่สุดที่เขาได้ฟังระหว่างเข้าร่วมการประชุมเอิร์ธซัมมิต
…แล้วชื่อของเซเวิร์น ซูซูกิ (Severn Suzuki) ก็กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเพียงชั่วข้ามคืน
2.
การก้าวเข้าสู่แวดวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเซเวิร์นมิใช่เรื่องบังเอิญ
พื้นฐานครอบครัวในฐานะลูกสาวของด็อกเตอร์เดวิด ซูซูกิ นักสิ่งแวดล้อมชื่อดังแห่งประเทศแคนาดา
เปิดโอกาสให้เธอคลุกคลีและซึมซับเรื่องราวเหล่านี้จากผู้เป็นพ่อ
แนวคิดเกี่ยวกับการดูแลปกป้องโลกของเด็กหญิงจึงเข้มข้นกว่าเด็กวัยเดียวกันไปโดยปริยาย
เมื่ออายุ 6 ขวบ ขณะที่เด็กหญิงคนอื่นๆ ยังเล่นตุ๊กตา เซเวิร์นลุกขึ้นมาช่วยพ่อขายหนังสือ
เพื่อระดมทุนช่วยเหลือชนพื้นเมืองแถบบริติชโคลัมเบียดำเนินการเรียกร้องสิทธิในที่ดิน
โตขึ้นมาอีกหน่อยในวัย 9 ขวบ เธอติดตามพ่อไปยังประเทศบราซิล
และพบเห็นการบุกรุกทำลายผืนป่าอะเมซอนด้วยตนเอง สิ่งที่ประทับเป็นภาพจำทำให้เซเวิร์นมิอาจนิ่งดูดาย
ดังนั้นเมื่อกลับมาถึงแคนาดา เธอจึงรวบรวมสมาชิกเพื่อนร่วมชั้นที่มีหัวใจสีเขียวเหมือนๆ กัน
ก่อตั้งขึ้นเป็นกลุ่ม Environmental Children’s Organisation หรือเรียกสั้นๆ ว่า ECO
โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยกันเรียนรู้ทำความเข้าใจในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและรณรงค์เผยแพร่สู่เด็กคนอื่นๆ
แถมยังสามารถระดมทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องกรองน้ำให้แก่ชุมชนพื้นเมืองในประเทศมาเลเซียได้เป็นผลสำเร็จ
ผู้คนที่นั่นเข้าถึงน้ำสะอาดยากลำบากขึ้น เแหล่งน้ำตามธรรมชาติโดนคุกคาม
จากกิจกรรมตัดไม้ทำลายป่าและคุณภาพเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ เพราะปนเปื้อนน้ำเสียจากเขตเมืองใหญ่
แม้แต่การเข้าร่วมประชุมเอิร์ธซัมมิต
เธอและเพื่อนอีก 3 คนในฐานะตัวแทนกลุ่ม ECO เดินทางข้ามประเทศเป็นระยะทางกว่า 5,000 ไมล์
จากแวนคูเวอร์ไปยังริโอ เดอ จาเนโร ด้วยเงินที่ช่วยกันขายขนมอบและเครื่องประดับทำมือ
เมื่อการประชุมเอิร์ธซัมมิตปิดฉากลง ประตูแห่งโอกาสในการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมของเซเวิร์นกลับเปิดกว้างขึ้น
นอกจากได้รับรางวัลเกียรติยศ “Global 500 Roll of Honour”
จากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)
เธอยังได้รับเชิญไปสัมภาษณ์ผ่านทางทีวีและวิทยุนับครั้งไม่ถ้วน เขียนบทความด้านสิ่งแวดล้อม
เขียนหนังสือแนะนำแนวทางการดูแลสิ่งแวดล้อมสำหรับเด็กๆ ในครอบครัวชื่อ “Tell the World”
และ “The Day You Will Change the World”
รวมทั้งรับบทพิธีกรรายการสำหรับเด็กที่ชื่อ Suzuki’s Nature Quest
[ที่มาภาพ www.sloth.gr.jp]
ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นความสนใจที่หยั่งรากลึกของเซเวิร์น
จึงไม่น่าแปลกใจที่เธอเลือกเรียนปริญญาตรีในสาขานิเวศวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการ
โดยระหว่างใช้ชีวิตนักศึกษา เธอยังนำทีมเพื่อนอีก 5 คน ปั่นจักรยานข้ามแคนาดา
เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องอากาศสะอาด
อีกหนึ่งภารกิจที่น่าภูมิใจคือการเข้าร่วมเป็นทีมที่ปรึกษาพิเศษของนายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
ในการประชุมเวิร์ลซัมมิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นในปี 2002 ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้
ปัจจุบันนอกจากรั้งตำแหน่งหนึ่งในคณะกรรมการอนุรักษ์ภาคประชาชน
ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งบริติชโคลัมเบีย
เซเวิร์นยังคงเดินหน้าสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมผ่านการพูดคุยกับผู้ฟัง
ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ…อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
3.
[ที่มาภาพ www.zmescience.com]
ปี 2002 เซเวิร์นเขียนบทความชื่อ “The Young Can’t Wait” ลงในนิตยสารไทม์…
“ผู้เข้าร่วมประชุมบางคนถึงกับน้ำตาเอ่อ คำพูดของฉันน่าจะกระทบใจ
และมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง
แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งทศวรรษ ฉันคิดว่าสุนทรพจน์ไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
อีกทั้งความหวังความเชื่อมั่นในตัวผู้นำที่มีอำนาจตัดสินใจ
และความศรัทธาในพลังของคนเล็กๆ ที่ส่งเสียงเรียกร้องถึงผู้นำเหล่านั้นก็เหือดแห้งไปจนหมด”
“หลังการประชุมเอิร์ธซัมมิต เกิดความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมในเมืองแวนคูเวอร์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของฉัน
กระนั้นเมื่อศตวรรษที่ 21 เริ่มต้น คนหนุ่มสาวรุ่นราวคราวเดียวกับฉัน
กลับตัดขาดจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่พวกเราต้องรับมือกับสารพัดปัญหาที่ตกทอดมาจากคนรุ่นก่อน
ความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นอยู่กับพลังของคนรุ่นใหม่
จะมัวรอคอยการแก้ปัญหาที่ริเริ่มโดยผู้นำประเทศอีกไม่ได้แล้ว
พวกเรานั่นแหละที่ต้องมุ่งมั่นว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างไร”
เธอเห็นด้วยอย่างยิ่งกับวาทะของมหาตมะ คานธีที่ว่า
“We must become the change we want to see”
และลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเองไปนานแล้ว
ตอนที่อายุ 12 ขวบเราคงไม่ได้ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากเท่าเด็กหญิงเซเวิร์น
แต่วันนี้เราเติบโตขึ้นและมีโอกาสรับรู้ปัญหาวิกฤตของโลกมากขึ้น
เราจะสามารถหมุนโลกไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นได้สักครึ่งหนึ่งของเธอหรือไม่
…คำถามนี้ต้องตอบด้วยการกระทำ
หมายเหตุ-บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกผ่านทางคอลัมน์คนหมุนโลกบนเว็บไซต์ของมูลนิธิโลกสีเขียว